งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ
งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ
January 05 / 2022

 

งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

 

งูสวัด คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดอีสุกอีใส พบมากในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แสดงอาการออกมาในลักษณะของผื่นตุ่มน้ำพองอยู่รวมเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท สามารถขึ้นที่ผิวหนังได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะขึ้นเพียงซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น

 

งูสวัดไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนหลังจากแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาท หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ สำหรับในรายที่เสียชีวิตเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนแอ และขาดภูมิต้านทาน โรคเชื้อไวรัสที่อยู่ในผื่นสามารถติดต่อโดยการสัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้สุกใสมาก่อนก็อาจจะกลายเป็นไข้สุกใสได้ หรือคนที่เป็นไข้สุกใสมาแล้วก็จะมีโอกาสเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น

 

โรคงูสวัด เกิดจากอะไร?

 

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส คือ varicella zoster virus (VZV) เชื่อว่าเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะค่อยๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงไม่ว่าจะจากวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลงอย่างโรคเอชไอวี โรคเอสแอลอี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้

 

 

 

 

อาการของโรคงูสวัด

 

  • อาจมีอาการปวดจี๊ดๆแปล๊บๆ หรือเหมือนปวดกล้ามเนื้อลึกๆ บริเวณผิวหนังที่จะเกิดผื่นมาก่อน
  • มักจะไม่มีไข้ หรืออาจมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ
  • สำหรับคนที่เป็นบริเวณใบหน้าจะมีอาการปวดศีรษะ เห็นแสงจ้าไม่ได้
  • เมื่อผ่านไปประมาณ 1 - 5 วันจะมีผื่นแดงอยู่เป็นกลุ่ม ต่อมาเป็นตุ่มน้ำใส มักจะขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายตามเส้นประสาทที่เป็นโรค ตุ่มน้ำใสจะคงอยู่ประมาณ 7-10 วัน ต่อมาผื่นจะตกสะเก็ดและหายไปใน 2 - 3 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้

 

 

การดูแลรักษาโรคงูสวัด


แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 2 - 3 วัน หลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ต้องรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาน และหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

 

การป้องกันโรคงูสวัด


1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น
2. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

 

 

 

งูสวัด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ติดเชื้อที่ดวงตาเสี่ยงตาบอด ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง และเกิดอาการปวดแสบร้อนปลายประสาท สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

 

 

 

ตรวจมะเร็งปากมดลูก

ราคา 1,900 บาท

ผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้อง

ราคา 110,000 บาท

ผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิด

ราคา 68,000 บาท

ส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ

ราคา 10,000 บาท

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

ราคา 5,500 บาท

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

ราคา 7,000 บาท